อาการปวดท้องประจำเดือนเหมือนคำสาปที่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะต้องเจอในทุกๆเดือน บางคนปวดน้อยบางคนปวดมาก บางคนมีอาการอื่นๆพ่วงมาด้วย เช่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดร้าวลงขา เบื่ออาหาร รวมไปถึงอาจพบความผิดปกติทางด้านอารมณ์ร่วมด้วยได้
สาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือน
ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากความผิดปกติทางด้านฮอร์โมนหรือสรีระ ส่วนสาเหตุทางการแพทย์แผนจีนนั้นมักเกิดจากอารมณ์เป็นหลักแล้วส่งผลทำให้ลมปราณและเลือดไหลเวียนติดขัด หรือการได้รับความเย็นมากระทบมากเกินไปส่งผลให้มดลูกเย็น เลือดไหลเวียนหนืดติดขัด และสุดท้ายคือผู้ที่มีอวัยวะม้ามอ่อนแอส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการทานอาหารเย็น หวาน มัน รสจัดและการครุ่นคิดที่มากเกินไปนั่นเองค่ะ
ลักษณะอาการและวิธีการรักษาตามศาสตร์แพทย์จีน
แบบเรียกเรียกว่า “กลุ่มอาการที่แกร่งเกินไป” มักเกิดจากการได้รับความเย็นมากระทบมากเกินไป เลือดลมไหลเวียนติดขัด มักมีอาการปวดมากปวดเหมือนเข็มทิ่มแทง ปวดร้าวลามไปที่อื่น ปวดศีรษะ ปวดสีข้าง รู้สึกแน่นตัว ท้องอืดแน่นท้องเป็นต้น ในการรักษากลุ่มอาการนี้มักจะใช้วิธีการฝังเข็มอุ่น รมยาด้วยแท่งอ้ายจิว เพื่อไล่ความเย็นและช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนลมปราณ และทานยาจีนเพื่อช่วยปรับสมดุลภายในเน้นเป็นตำรับที่ช่วยทะลวงลมปราณ เพิ่มความอบอุ่น บรรเทาปวด
แบบที่สองเรียกว่า “กลุ่มอาการแบบพร่องเกินไป” มักเกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ทำร้ายอวัยวะม้าม โดยเฉพาะน้ำเย็นกับของหวานจัด ร่วมกับเป็นคนที่ชอบคิดมาก คิดเยอะใช้สมองเยอะ หรือเคยมีประวัติผ่าตัดใหญ่ ผู้ที่บริจาคเลือด เลือดจาง ใช้ร่างกายเปลืองพักผ่อนน้อยทำงานหนัก มักจะมีอาการปวดแบบเรื่อยๆ เป็นช่วงๆ อ่อนเพลียง่าย หน้ามืด มือเท้าเย็น ท้องเสียถ่ายบ่อย ท้องอืด หูอื้อเป็นต้น ในการฝังเข็มมักใช้คู่กับการรมยาอ้ายจิว หรือโคมเพื่อเพิ่มความอบอุ่นที่กลางลำตัว ร่วมกับการทานยาจีนเพิ่มเสริมสร้างเลือด บำรุงให้อวัยวะแกนกลางลำตัวแข็งแรงเพื่อให้รากฐานในการสร้างเบือดและลมปราณมั่นคง
นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาเบื้องต้นอื่นๆเช่นการรับประทานยาแก้ปวดกระประคบร้อนที่ท้องน้อยดื่มน้ำอุ่นแต่หากพบอาการที่ผิดปกติอื่นๆเพิ่มเติมเช่นปวดจนเดินไม่ได้เลือดประจำเดือนมีปริมาณค่อนข้างมากปวดก้นกบควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม
ความถี่ในการรักษา
ความถี่ในการเข้ารับการรักษาโดยการแพทย์แผนจีนควรเข้ามาฝังเข็มอาทิตย์ละ1ครั้งและทานยาสมุนไพรจีนต่อเนื่องร่วมกับการปรับพฤติกรรมตัวเองปรับอาหารที่รับประทาน หาเวลาพักผ่อนคลายเครียด ออกกำลังกาย เป็นต้น
ข้อควรระวังก่อนมาเข้ารับการฝังเข็ม
คือควรทานอาหารมาก่อนอย่าให้ท้องว่าง นอนหลับให้เพียงพอไม่ให้อ่อนเพลียจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการบริโภคของเย็นค่ะ
เขียนโดย พจ.อินทิรา ทองรุ่ง