
กว่าหลายพันปีที่เริ่มมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการมีอยู่ของแพทย์แผนจีนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการรักษาและป้องกันโรคโดยอิงตามสภาวะของธรรมชาติ ดังนั้นแพทย์แผนจีนจึงเป็นตัวสะท้องถึงวัฒนธรรม แนวคิด ความเชื่อ และสภาพสังคมของคนจีนในยุคสมัยก่อนได้เช่นกัน
ผู้คนในสมัยนั้นมีความคิดทางปรัชญาเชื่อในเรื่องของธรรมชาติ เช่น
หยินหยาง คือเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้มีสองสิ่งที่ตรงข้ามกันคอยถ่วงดุลกันอยู่เพื่อทำให้เกิด ”สมดุล” ลักษณะของหยางคือ สีขาว แสงสว่าง กลางวัน ความอบอุ่น การเคลื่อนไหว ความแห้ง เป็นต้น ส่วนลักษณะของหยินคือ สีดำ ความมืด กลางคืน ความเย็น ความสงบนิ่ง ไม่ไหวติง ความชุ่มชื้น เป็นต้น
ทั้งสองสิ่งนี้อยู่ในธรรมชาติและร่างกายของเรา เช่นโมงยามกาลเวลา ฤดูกาล กลไกการทำงานของร่างกายต่างๆ
ปัญจธาตุ หรือ ธาตุทั้ง 5 ไม้ ไฟ ดิน ทอง และ น้ำ คอยทำหน้าที่ก่อเกิดและข่มกันตามกฎของธรรมชาติ และแต่ละธาตุก็มีคุณลักษณะของตัวเอง
ไม้ต้องชอนไช โค้งงอให้ร่มเงา เป็นสัญลักษณ์ของการเกิด การเจริญเติบโต แผ่ขยาย อวัยวะที่เป็นธาตุไม้ก็คือตับ
ไฟต้องเผาไหม้ ลุกโชนลอยขึ้น ให้ความอบอุ่น แสงสว่าง อวัยวะของธาตุไฟก็คือหัวใจ
ดินเปรียบเสมือนมารดาของสรรพสิ่ง คือการย่อยสลาย แบกรับ การซึมซับ อวัยวะแห่งธาตุดินก็คือม้าม
ทองเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ บิดงอได้ เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง สุขุม โอนอ่อนตามสถานการณ์ อวัยวะของธาตุนี้คือปอด
น้ำคือความชุ่มชื้น มีทิศทางไหลตกลงล่าง เย็นสบาย กักเก็บได้ดี ซึ่งก็คืออวัยวะไตนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อธาตุทั้ง5ทำงานในสภาวะปกติจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกันเสมอ เช่น ไฟเผาไหม้เกิดขี้เถ้า ทำให้เกิดดิน ในขณะเดียวกันน้ำก็ต้องคอยข่มไฟไม่ให้เผาไหม้เยอะเกิน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของจิงชี่ หรือที่คนไทยชอบเรียกว่า ลมปราณ คือพลังงาน บางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นสสารที่อยู่ในสิ่งมีชีวิต
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นหยินหยาง ธาตุทั้ง5 หรือ ลมปราณทั้งหมดนี้ได้มีการนำมาผนวกกับการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวจีนสมัยก่อน เช่น เรื่องของฮวงจุ้ย วันตกฟากดวงชะตา หรือ หลักการปรัชญาต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของสุขภาพ ความเชื่อเหล่านี้ได้รับการสืบต่อกันมาเรื่อยๆ
จนมาถึงสมัยที่เริ่มมีการจดบันทึก ในยุคสมัยของราชวงศ์ฮั่นได้เกิดตำราทางการแพทย์แผนจีนที่เป็นหลักแนวคิดพื้นฐานของแพทย์จีนทั้งหมดมา4เล่ม และปัจจุบันนี้ก็ยังใช้แนวคิดหลักมาจากตำราเหล่านี้อยู่ ประกอบไปด้วย หลักการพื้นฐานทางการแพทย์แผนจีน การวินิจฉัยโรค ระบบเส้นลมปราณ และยาสมุนไพร
ส่วนเรื่องของการฝังเข็ม ต้องย้อนกลับไปในสมัยยุคหินโบราณพบหลักฐานเข็มชนิดแรกก็คือ “หิน” นั่นเองค่ะ เวลาที่มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายต่างๆ คนในสมัยนั้นลองใช้หินคลึงตามบริเวณแขนขาลำตัวแล้วค้นพบว่า เอ๊ะ ทำไมคลึงที่บริเวณนี้ถึงหายปวดหัว คลึงบริเวณนี้ถึงหายปวดหลัง จึงเริ่มมีการจดจำจุดบริเวณต่างๆว่าช่วยบรรเทาอาการอะไรได้บ้าง
และได้เริ่มมีการสังเกต จดบันทึก ทดลอง ถึงการเดินทางของเส้นลมปราณในร่างกาย ว่าเส้นนี้สะท้อนถึงอวัยวะอะไรบ้าง ได้ก่อกำเนิดเป็นตำราทฤษฏีเส้นลมปราณขึ้นมาใช้จนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาจากการใช้หินคลึงก็เริ่มเป็นของแหลมคม เริ่มตั้งแต่การใช้วัตถุดิบของเข็มเป็นกระดูกสัตว์ การเหลาซี่ไม้ โลหะ ไปจนถึงทอง และเริ่มมีการใช้ไฟเผาที่เข็มก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค
แพทย์แผนจีนเชื่อว่ามนุษย์และสภาพแวดล้อมแยกออกจากกันไม่ได้ ธรรมชาติดินฟ้าอากาศ สภาพสังคม แนวคิดทางปรัชญา ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ทั้งสิ้น จึงเรียกแนวคิดนี้ว่า “องค์รวม” ดังนั้นเวลาที่คนไข้คนหนึ่งเดินเข้ามาหาหมอ
นอกจากสุขภาพร่างกายและอาการที่แสดงออกมาแล้ว จะต้องดูตั้งแต่เพศ อายุ การทำงาน สถานภาพสมรส ถิ่นที่อยู่ สภาพสังคม และอื่นๆอีกมากมายเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคนั้นคืออะไร และสามารถก่อเกิดโรคอะไรในภายหลังขึ้นได้บ้าง คุณหมอก็จะแนะนำแนวทางอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือจากการรักษาทั่วไป
เขียนโดย พจ. อินทิรา ทองรุ่ง